บ้านสกุลทอง สำรับโปรตุเกส จีน ไทย ที่สะท้อนพหุวัฒนธรรมของย่านกุฎีจีน

ขนิษฐา สกุลทอง ผู้สืบทอดตำรับอาหารโปรตุเกส จีน และไทยของ ตระกูลสกุลทอง ซึ่งเป็น 1 ใน 17 ตระกูลดั้งเดิมในชุมชนกุฎีจีน หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ กล่าวถึงการสืบสานสำรับสามัญประจำบ้านมรดกตกทอดที่กลายมาเป็น บ้านสกุลทอง บ้านสกุลทอง เปิดบ้านไม้เก่าแก่ของครอบครัวมาร่วมทศวรรษเพื่อต้อนรับผู้คนที่อยากลองลิ้มชิมรสสำรับอาหารคาวและหวานทั้งในรูปแบบไพรเวตคอร์สสำหรับมื้อกลางวันและมื้อเย็นที่ต้องจองล่วงหน้าและแบบสำรับของว่างสำหรับลูกค้าแบบวอล์กอินทุกวันสุดสัปดาห์ ชุมชนกุฎีจีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่เมื่อ พ.ศ.2310 โปรดให้ชาวจีนและชาวฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงเก่าอยุธยามาตั้งถิ่นฐานในที่ดินพระราชทานบริเวณทางใต้ของคลองบางกอกใหญ่อันเป็นที่ตั้งของชุมชนกุฎีจีนในปัจจุบัน ย่านเก่าแก่แห่งนี้เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมโดยมีทั้งลูกหลานชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ชาวจีน ชาวมุสลิม ชาวลาว และชาวมอญ ทั้งยังมีสถานที่สำคัญทางศาสนาภายในชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในการนับถือศาสนา เช่น โบสถ์ซางตาครู้ส วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร มัสยิดบางหลวง และศาลเจ้าเกียนอันเกง ประวีร์ สกุลทอง ผู้เป็นสามีของขนิษฐานั้นเป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลสกุลทองโดยคุณเชียดเป็นชาวจีนแมนจูที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ส่วนคุณชวดแต่งงานกับหญิงชาวโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐานในย่านกุฎีจีนในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนขนิษฐา (นามสกุลเดิมคือ สมิตินันทน์) เรียนรู้การทำอาหารไทยชาววังมาจากคุณย่าและคุณอาผู้สืบทอดตำรับอาหารมาจากคุณชวดตุ้ม (วิจารณ์ธนากร สมิตินันทน์) โดยคุณชวดนั้นเคยเป็นนางห้องต้นเครื่องในวังสวนสุนันทา และเมื่อขนิษฐาเข้ามาเป็นสะใภ้ของตระกูลสกุลทองทำให้เธอได้เรียนรู้การทำอาหารแบบโปรตุเกสและจีนจากคุณย่าของประวีร์ด้วย ดังนั้นเมนูประจำบ้านของสกุลทองจึงมีความผสมผสานระหว่างตำรับโปรตุเกส จีน และไทย “เราโตมากับย่าและอาและตั้งแต่เด็กต้องเป็นลูกมือทำอาหาร เช่น หมูสร่งนี่ถือเป็นเมนูประจำบ้านเลย และช่วงเทศกาลพิเศษก็จะทำอาหารที่วิจิตรมากขึ้น เช่น น้ำพริกลงเรือ…

Read More